กำหนดเป้าหมาย หาคีย์เวิร์ด การสำรวจเว็บไซต์คู่แข่ง

การกำหนดเป้าหมาย เริ่มด้วยการหาคีย์เวิร์ดและสำรวจคู่แข่ง เมื่อเราได้ข้อมูลที่สำคัญแล้วนำมาเป็นแนวทางในการทำเว็บไซต์ สร้างคอนเทนต์ SEO ที่ได้ผลดี มีประสิทธิภาพ
การกำหนดเป้าหมายของโปรเจกต์ที่เรากำลังจะทำ

ในการวางแผนเริ่มทำเว็บไซต์ สิ่งแรก ๆ ที่เราจะต้องทำเลยก็คือการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น ถ้าหากเรากำลังจะทำเว็บให้กับธุรกิจของเรา เราก็จะต้องรู้ว่าจะทำเว็บเพื่ออะไร ซึ่งส่วนมากเมื่อเรามีเว็บไซต์บนโลกออนไลน์ก็มักจะอยากให้ลูกค้าของเราค้นหาเราเจอ (เรียกว่าการทำ SEO ย่อมาจาก Search engine optimization) ดังนั้นจึงต้องมีการวางกลยุทธ์ SEO มีส่วนสำคัญที่จะต้องทำเป็นอย่างแรกคือการทำ Keyword Research หรือการหาคีย์เวิร์ด และเราอาจจะสำรวจจากเว็บไซต์คู่แข่งที่มีอยู่ด้วยก็ได้

กำหนดเป้าหมาย การทำเว็บไซต์ให้ชัดเจน

ในบทความก่อนหน้านี้เราได้เขียนเกี่ยวกับการวางแผนก่อนเริ่มทำเว็บไซต์ กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนไปแล้ว ซึ่งเราจะต้องรู้ว่าเว็บที่เรากำลังจะทำนั้นมีเป้าหมายเพื่ออะไร อาจจะลองตั้งเป็นคำถามเอาไว้คร่าว ๆ เพื่อไม่ให้หลุดโฟกัส เช่น

  • เราจะทำเว็บไซต์เกี่ยวกับอะไร ?
  • เราคือใคร ? แบรนด์ที่เราทำอยู่เกี่ยวกับอะไร หรือ อาจจะเริ่มสร้างแบรนด์ใหม่ ?
  • อะไรคือจุดอ่อน จุดแข็งของเรา อะไรทำให้เรามีความแตกต่างจากคนอื่น ๆ หรือ เว็บไซต์อื่น ๆ (เราอาจจะไปลิสต์รายการอีกที ตอนที่เราทำการสำรวจเว็บไซต์คู่แข่ง)

หาคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องและการสำรวจเว็บไซต์คู่แข่ง

ในการทำ SEO คีย์เวิร์ดนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เราจะต้องทำการ Research Keyword เพื่อให้แน่ใจว่ามีคนสนใจสิ่งที่เรากำลังจะทำ (มีปริมาณการค้นหาใน Search Engine) เพราะถ้าเราไปทำคอนเทนต์ด้วยคีย์เวิร์ดที่ไม่มีคนค้นหาเลยก็จะไม่มีประโยชน์ เพราะไม่มีคนเข้าเว็บ ไม่มีลูกค้า เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเราทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องก็อาจจะมี

  • แหล่งท่องเที่ยวเชียงใหม่
  • รถเช่าสนามบินเชียงใหม่
  • ที่พักในเมืองเชียงใหม่

เป็นต้น

1.วิธีการหาคีย์เวิร์ดจากการวิเคราะห์เว็บไซต์คู่แข่งด้วยเครื่องมือ SEO (Ubersuggest)

Ubersuggest เป็นเครื่องมือวิเคราะห์เว็บไซต์คู่แข่งที่ทีมอีสานเดฟเราใช้งานในการวิเคราะห์คีย์เวิร์ดให้กับเว็บไซต์ของลูกค้าของเรา มีทั้งแบบที่เสียเงินและแบบฟรี ซึ่งในเวอร์ชันฟรีเราก็สามารถใช้งานได้ระดับหนึ่ง สามารถเข้าทดลองการใช้งานได้ที่ https://app.neilpatel.com ซึ่งจริง ๆ แล้วก็มีเครื่องมือ SEO แบบเจ๋ง ๆ อีกหลายตัวที่เราได้ลองใช้งานแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยม (เดี๋ยวจะทยอยอัพเดทข้อมูลให้ได้อ่านกัน)

ตัวอย่างการเช็ค SEO Keyword จากเว็บไซต์คู่แข่ง ด้วย Ubersuggest
ตัวอย่างการเช็ค SEO Keyword จากเว็บไซต์คู่แข่ง ด้วย Ubersuggest

การใช้งานเครื่องมือนี้นั้นง่ายมาก ๆ เพียงแค่เรากรอก URL ของเว็บไซต์ที่เราต้องการตรวจสอบคีย์เวิร์ด ระบบก็จะลิสต์รายการคีย์เวิร์ดออกมา พร้อมทั้งบอกข้อมูลคร่าว ๆ ว่า มีปริมาณการค้นหารายเดือนเท่าไหร่ (Volumn) ทำให้เรารู้ว่าเว็บไซต์นั้น ๆ ติดอันดับด้วยคีย์เวิร์ดไหน อยู่ตำแหน่งเท่าไหร่ และคาดการณ์จำนวนทราฟฟิคที่เข้าเว็บไซต์ให้ด้วย (รู้เขารู้เรา แบบนี้รบร้อยครั้งก็มีโอกาสที่จะชนะร้อยครั้ง)

2.ไอเดียการหาคีย์เวิร์ดจากการสังเกตุใน Search Engine

เราหาคีย์เวิร์ด เป้าหมายเพื่อต้องการหาคำหรือวลีที่มีการค้นหาใน Search Engine เพราะฉะนั้นบางทีเราอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษอะไรเลย เพียงแค่เราลองค้นหาและสังเกตุในหน้า Search Engine อาจจะมีข้อมูลอะไรบางอย่างที่สำคัญบอกเรา ลองดูตัวอย่างจากการทดลองค้นหาใน Google ด้วยคำว่า “วิธีการหาคีย์เวิร์ด” เมื่อเราเลื่อนลงไปล่างสุดของหน้า Google จะแสดงคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับคำที่เราค้น
ข้อมูลพวกนี้แสดงอาจจะเป็นคีย์เวิร์ดที่เรากำลังตามหา ตรงกับจุดประสงค์ของเรา และที่แน่ ๆ แสดงว่าต้องมีปริมาณการค้นหาระดับหนึ่ง ระบบของ Google จึงนำมาแสดงให้เราเห็น เราสามารถเลือกหยิบไปใช้ได้

วิธีการดูคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องใน Google Search Result
วิธีการดูคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องใน Google Search Result

อีกจุดหนึ่งในหน้า Google ที่เราสามารถสังเกตุและมองหาคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องได้คือเวลาที่เราพิมพ์ ๆ อยู่ในช่องค้นหา ระบบ Google จะแนะนำคีย์เวิร์ดที่คาดว่าเรากำลังจะพิมพ์ให้ ตรงนี้ก็จะเป็นคีย์เวิร์ดที่น่าสนใจที่เราสามารถหยิบไปใช้ได้เหมือนกัน

Keyword suggestion in Google search (คำค้นที่แนะนำ)
Keyword suggestion in Google search (คำค้นที่แนะนำ)

3.ใช้เครื่องมือวางแผนคีย์เวิร์ดใน Google Ads ในการทำ Keyword Research

สำหรับใครที่เป็นสายการตลาดที่เคยใช้ Google Ads ในการยิงโฆษณา อาจจะเคยผ่านหูผ่านตากับเจ้าเครื่องมือนี้มาแล้ว นั่นก็คือเครื่องมือวางแผนคีย์เวิร์ดใน Google Ads ซึ่งเป็นเครื่องมือของ Google เอง เครื่องมือนี้ดีมาก ๆ ช่วยให้เราวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างละเอียด สำรวจคีย์เวิร์ดจากเว็บคู่แข่งได้ด้วยการกรอก URL ของเว็บลงไปได้เลย หรือจะจัดกลุ่มคำค้นก็ได้

เครื่องมือวางแผนคีย์เวิร์ด ใน Google Ads

Long-Tail Keywords เพื่อเจาะจงกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น

เมื่อเราได้รายการคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องมาเบื้องต้นแล้ว จะสังเกตุว่าหลาย ๆ คำนั้นยังเป็นคำที่ค่อนข้างกว้าง ไม่ได้เจาะจงมากสักเท่าไหร่เช่น “การหาคีย์เวิร์ด” จากตัวอย่างที่เราได้ลองค้นหา ก็ไม่ได้เจาะจงย่อยลงไปว่า การหาคีย์เวิร์ดนั้นหาเพื่ออะไร เราอาจจะมาเติม Long-Tail Keyword ให้ชัดเจนมากขึ้นเช่น
การหาคีย์เวิร์ด สำหรับขายของ ใน Facebook” หรือ “การหาคีย์เวิร์ด สำหรับทำเว็บไซต์ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในภาคอีสาน” เป็นต้น
จากนั้นก็ลองจัดกลุ่มคีย์เวิร์ด เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการวางแผยกลยุทธสำหรับสร้างคอนเทนต์ SEO ให้กับเว็บไซต์ของเราต่อไป

เป็นอย่างไรกับบ้างครับ หลังจากที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เพื่อน ๆ พอจะปิ๊งไอเดียนำวิธีการที่เราได้นำเสนอไปใช้ได้ไหม ถ้ายังงง ๆ อยู่อาจจะลองเริ่มทำไปก่อน ขั้นตอนนี้อาจจะใช้เวลานานสักหน่อย แต่มันเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ๆ เพราะถ้าหากเรามีคีย์เวิร์ดและกลยุทธที่ดี เมื่อเริ่มทำเว็บไซต์แล้วก็ย่อมจะมีคนค้นหาเจอ ดีกว่าไม่ได้วางแผนอะไรเลย ไม่รู้ว่าลงมือทำไปแล้วจะไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร

แชร์บทความนี้
Pongpat Janthai
Pongpat Janthai

Green , ผู้ก่อตั้งทีม ISAN.Dev จากประสบการณ์การทำงานด้านเว็บไซต์ โดยเฉพาะ WordPress มากกว่า 20 ปี รู้ข้อดีข้อเสีย จุดอ่อนจุดแข็ง จึงได้พัฒนาทีมและเฟรมเวิร์ค วางโครงสร้างให้เว็บไซต์ที่ทำด้วย WordPress เหนือกว่าเว็บทั่วไป เร็วกว่า แรงกว่า ไม่ต้องมาปวดหัวกับเรื่องเว็บอีกต่อไป