WebP คืออะไร ? มาทำความรู้จัก พร้อมวิธีแปลงไฟล์ภาพแบบง่าย ๆ

ไฟล์ WebP เป็นไฟล์รูปภาพแบบใหม่ที่พัฒนาโดย Google ออกแบบมาเพื่อการใช้งานบนเว็บไซต์โดยเฉพาะ มีขนาดไฟล์ที่เล็ก รองรับภาพเคลื่อนไหวเหมือนไฟล์ GIF และการโปร่งใสเหมือน PNG

ไฟล์รูปภาพที่เราใช้งานกับในเว็บไซต์นั้นมีหลายชนิด ที่เราคุ้นเคยกันดีก็จะมี JPEG , PNG และ GIF ซึ่งก็พอจะรู้ขัอดีของไฟล์ภาพแต่ละนามสกุลกันดีอยู่แล้ว JPEG นั้นเป็นไฟล์ที่นิยมกันมาก ๆ สำหรับภาพถ่ายและภาพกราฟฟิกออนไลน์เพราะมีขนาดไฟล์ภาพที่เล็ก ส่วน PNG นั้นเป็นไฟล์ที่ค่อนข้างอเนกประสงค์ ไม่สูญเสียข้อมูลระหว่างการบีบอัด ที่สำคัญรองรับควางโปร่งใสอีกด้วย แต่ถ้าต้องการสร้างภาพเคลื่อนไหวที่เรียบง่ายนั้นไฟล์ภาพประเภท GIF นั้นรองรับการใช้งานประเภทนี้ได้เป็นอย่างดี

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นยังไม่เพียงพอครับ เพราะว่าไฟล์แต่ละประเภทยังมีขนาดไฟล์ภาพที่ใหญ่อยู่ ทาง Google จึงได้พัฒนารูปแบบไฟล์ประเภทใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป้าหมายคือเพื่อรองรับการโหลดไฟล์ที่เร็วขึ้น โดยเฉพาะการใช้งานภาพกราฟฟิกในเว็บไซต์นั้นต้องการไฟล์ที่มีขนาดเล็กโหลดเร็ว ๆ และต้องรองรับการใช้งานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Animation และ ภาพที่โปร่งใสได้

WebP คืออะไร ? ทำไมช่วงหลัง ๆ มีคนพูดถึงกันจัง

Google ได้เปิดตัวไฟล์ภาพแบบ WebP ตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งเป็นรูปแบบรูปภาพแบบใหม่ ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานบนเว็บไซต์โดยเฉพาะ เพราะเราจะได้ไฟล์ภาพที่ยังคงมีคุณภาพ แต่ขนาดไฟล์เล็กลง ซึ่งจะทำให้เว็บโหลดเร็วขึ้น

การบีบอัดรูปภาพแบบไม่สูญเสียคุณภาพ WebP จะมีขนาดไฟล์ที่เล็กกว่า PNG ถึง 26% และเล็กกว่า JPEG กว่า 25 – 34%
เมื่อได้ขนาดภาพที่เล็กลงมาดขนาดนี้ก็ย่อมส่งผลให้หน้าเว็บของเราโหลดเร็วขึ้น ผู้ใช้งานหน้าเว็บก็ได้รับประสบการณ์ใช้งานที่ดี
หากต้องการอ่านข้อมูลเกี่ยวกับ WebP เพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่บล็อกของ developers.google หัวข้อ WebP รูปแบบรูปภาพสำหรับเว็บ
ถึงแม้ว่าไฟล์รูปแบบใหม่นี้จะมีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็มีข้อเสียเหมือนกัน เรามาดูกันว่ามีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง

ข้อดี / ข้อเสีย ของไฟล์รูปภาพ WebP

ข้อดีของ WebP

  • เว็บไซต์ที่โหลดเร็ว ๆ จะส่งผลดีต่อประสบการณ์ผู้ใช้ เราคงเคยเจอเว็บไซต์ที่โหลดนาน ๆ บางทีก็ขี้เกียจรอจนปิดหนีไปเลยก็มี และยังช่วยส่งผลดีต่อการทำ SEO เพราะ Search Engine อย่างเช่น Google ให้คะแนนกับหน้าเว็บที่โหลดเร็ว
  • ด้วยขนาดไฟล์ที่เล็กลง WebP ก็จะช่วยให้เราประหยัดพื้นที่ในการเก็บข้อมูล ลดค่าใช้จ่ายได้ด้วย
  • รองรับการใช้งานได้กับบราวเซอร์ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Google Chrome , Firefox , Microsoft Edge และ Safari ปัจจุบันบราวเซอร์อื่น ๆ รองรับไฟล์ประเภทนี้เกือบทั้งหมดแล้ว
  • WebP รองรับไฟล์ภาพแบบโปร่งใส สามารถใช้แทน PNG ได้เลย
  • WebP รองรับการทำภาพเคลื่อนไหว สามารถใช้แทน GIF แบบเดิมได้

ข้อเสียของ WebP

  • เหมาะกับการใช้งานบนเว็บไซต์เท่านั้น ไม่เหมาะกับการนำไปใช้แบบอื่น เช่น นำไปอัดเป็นรูปภาพแบบออฟไลน์ เพราะอาจจะได้คุณภาพงานที่ไม่ดี
  • การบีบอัดไฟล์ ถึงแม้เราจะบีบอัดเพียงเล็กน้อย ก็อาจจะส่งผลเสียต่อคุณภาพของรูปภาพได้ ไม่เหมาะกับการนำไปใช้ในงานที่ต้องการคุณภาพสูง ๆ เช่น ช่างภาพ ที่ต้องการนำเสนอภาพถ่ายที่เน้นคุณภาพสูง ๆ ก็ไม่เหมาะที่จะนำ WebP ไปใช้งาน เป็นต้น
  • บราวเซอร์รุ่นเก่า ๆ บางส่วน เช่น Internet Explorer อาจจะไม่รองรับไฟล์ประเภทนี้ (แต่ปัจจุบันนี้มีสัดส่วนการใช้งานที่น้อยมากแล้ว)

โดยส่วนตัวผู้เขียน เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว ข้อดีนั้นมีมากกว่าข้อเสีย (ได้มากกว่าเสีย) เพราะว่าจุดประสงค์เราเราชัดเจนว่าเราจะใช้ภาพในเว็บไซต์ ต้องการโหลดไว ๆ และรองรับการใช้งานของคนส่วนใหญ่ การเลือกใช้ WebP นั้นจึงเป็นตัวเลือกที่ดี

วิธีการแปลงไฟล์ PNG หรือ JPEG ให้เป็น WebP แบบออนไลน์

เราสามารถแปลงไฟล์รูปภาพให้เป็น .webp ก่อนที่จะอัพโหลดขึ้นไปใช้งานบนเว็บไซต์ โดยใช้เครื่องมือแบบออนไลน์ ซึ่งมีหลายเว็บมาก ๆ ลองค้นหาด้วยคำว่า “jpg to webp” หรือ “png to webp” ผลลัพธ์ก็จะขึ้นมาเพียบเลย ส่วนตัวผู้เขียนนั้นชอบเว็บนี้มาก ๆ เพราะว่าใช้งานง่ายและแปลงไฟล์ได้หลากหลาย ครบในเว็บเดียวเลย

ตัวอย่างการแปลงไฟล์ PNG เป็น WebP แบบออนไลน์

การ Save file WebP ด้วย Photoshop (Version 23.2 ขึ้นไป)

ข่าวดีสำหรับใครที่ใช้งาน Photoshop กันอยู่แล้่ว ล่าสุดเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมา Photoshop เวอร์ชัน 23.2 รองรับการใช้งานไฟล์ประเภท WebP อย่างเต็มรูปแบบ เราไม่ต้องลงปลั๊กอินอะไรเองเพิ่มให้ยุ่งยากแล้ว หากใครที่อัพเดทแล้วก็จะสามารถใช้งานได้เลย เราลองไปทดสอบกัน

ไปที่เมนู File > Save a Copy…
เลือก Format เป็น WebP
เลือก WebP Option
  • เลือก Lossless หากไม่ต้องการบีบอัด เราจะไม่สูญเสียความละเอียดของภาพ หากเลือกตัวเลือกนี้
  • หรือเลือก Lossy แล้วเราจะสามารถปรับ Quality ของรูปภาพได้ ให้เลือกปรับตามความเหมาะสมกับการนำไปใช้งาน ยิ่ง Quality สูง ขนาดไฟล์ก็จะใหญ่มากขึ้น แต่ก็จะละเอียดมากขึ้นตามไปด้วย

เมื่อเราแปลงไฟล์ภาพหรือ Save ภาพเป็น WebP เสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถนำไปใช้งานอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ของเราได้เลย

เป็นอย่างไรกันบ้าง หากคิดว่าบทความของเราเป็นประโยชน์ สามารถสนับสนุนเราได้ง่าย ๆ ด้วยการแชร์บทความนี้ไปให้เพื่อน ๆ ของเราได้อ่านกัน ไม่ว่าจะเป็นทาง Facebook , Line หรือทางช่องทางการสื่อสารที่ท่านถนัด ขอให้มีความสุขและสนุกกับการทำเว็บไซต์ไปกับเราครับ

แชร์บทความนี้
Pongpat Janthai
Pongpat Janthai

Green , ผู้ก่อตั้งทีม ISAN.Dev จากประสบการณ์การทำงานด้านเว็บไซต์ โดยเฉพาะ WordPress มากกว่า 20 ปี รู้ข้อดีข้อเสีย จุดอ่อนจุดแข็ง จึงได้พัฒนาทีมและเฟรมเวิร์ค วางโครงสร้างให้เว็บไซต์ที่ทำด้วย WordPress เหนือกว่าเว็บทั่วไป เร็วกว่า แรงกว่า ไม่ต้องมาปวดหัวกับเรื่องเว็บอีกต่อไป